Thursday, April 3, 2008

สีแห้งช้า....

เวลาคุณนำรถไปซ่อมแผลเฉพาะจุด เฉพาะชิ้น หรือว่าพ่นสีใหม่หมดทั้งคัน คุณต้องเข้าใจก่อนว่า แต่ละอู่นั้นใช้ สีและส่วนผสมอื่นๆต่างกัน แม้แต่ยี่ห้อของสีก็ไม่เหมือนกันสำหรับแต่ละอู่ รวมทั้งศูนย์บริการทั้งหลายด้วย

กระบวนการซ่อมทั้งหมดนั้นจะต้องใช้สี ทินเนอร์ แลคเกอร์+ตัวเร่ง สีโป๊ว สีรองพื้น ซึ่งแต่ละชนิดสามารถเลือกใช้ต่างยี่ห้อกันได้ แต่ต้องอยู่ในเกรดเดียวกัน เช่นถ้าเป็นระบบแห้งช้า 2K เขาก็จะใช้ทินเนอร์ สีพื้น แลคเกอร์ เป็นระบบแห้งช้าทั้งหมด ใช้มั่วหรือลักไก่ไม่ได้ อย่างที่เห็นโฆษณากันว่า "สีแห้งช้าทั้งระบบ" คือความหมายนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องใช้ยี่ห้อเดียวกันทั้งหมด

เช่นถ้าใช้สีระบบแห้งช้า 2K ยี่ห้อ Dupont ก็จะมาเป็นชุดพร้อมกันหมด ทั้งแลคเกอร์ และตัวเร่ง(Hardener) ส่วนทินเนอร์ หรือสีพื้นจะไปใช้ยี่ห้ออื่นที่ไม่ใช่ Dupont ก็ได้ แต่ต้องอยู่ในเกรดสำหรับระบบแห้งช้า ไม่งั้นพัง อู่บางแห่งถ้าได้ราคาดี เขาก็จะใช้ยี่ห้อเดียวกันทั้งหมด หรือบริษัทประกันภัยบางแห่ง บังคับเลยว่าต้องใช้ยี่ห้อเดียวกันทั้งหมด (อาจเพราะเขาเป็นตัวแทนจำหน่ายสียี่ห้อนั้นก็ได้) แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะใช้วิธีนี้คือ เฉพาะสี แลคเกอร์+ตัวเร่ง ทินเนอร์ จะใช้ยี่ห้อเดียวกันทั้งหมด

อู่บางแห่งใช้สีเป็นระบบแห้งช้า แต่ใช้แลคเกอร์กึ่งแห้งช้าเคลือบทับหน้า ก็ได้ผลดีเช่นกันให้ความเงางาม แต่ความคงทน จะสู้ใช้แลคเกอร์แห้งช้าจริงๆ ไม่ได้ แต่จะทำงานได้เร็วขึ้นและต้นทุนถูกลง อย่างไรก็ตามอย่ายึดติดกับยี่ห้อมากนัก ทุกวันนี้เทคโนโลยี่มันทันกันหมด

สีแห้งช้าดีจริงหรือไม่ ? สีแห้งช้าที่พ่นออกมาจากโรงงานนั้น ถ้าเป็นรถญี่ปุ่นจะต่างกับรถทางยุโรป ใช้กันคนละยี่ห้อ โดยเฉพาะตัวแลคเกอร์ที่่ใช้เคลือบทับหน้า คุณภาพก็ต้องต่างกันเป็นธรรมดา ถ้าเราจะพ่นสีรถยนต์ใหม่ทั้งคัน ถ้าจะเลือกใช้สีระบบแห้งช้า ก็ต้องดูว่าคุ้มหรือไม่ เพราะราคาจะแพงกว่าเท่าตัว แต่คุณภาพความคงทนนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะหน้ามันแข็งมากๆ กลัวว่ารถจะผุก่อนสีจะพัง ถ้ารถของเราราคาไม่แพงนัก และต้องควักกระเป๋าจ่ายเอง ก็คิดดูให้ดีก่อน แต่ถ้าเป็นบริษัทประกันภัยจ่ายก็ว่ากันอีกที

Tuesday, April 1, 2008

ข้อบังคับกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับกิจการประเภทพ่นสีรถยนต์


ข้อบังคับกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยหลักเกณฑ์การประกอบการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจ หรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพประเภท พ่นสีรถยนต์ พ.ศ. 2529

มีเนื้อหาสาระที่สำคัญคือ
- สถานที่พ่นสีรถยนต์ คือ อาคารและบริเวณที่ใช้ประกอบการค้า พ่นสีรถยนต์
- ห้องพ่นสีรถยนต์ คือ ห้องซึ่งจัดไว้สำหรับพ่นสีรถยนต์ โดยจะใช้วัสดุอื่นกั้นเป็นห้อง ขณะทำการพ่นสีก็ได้

สถานที่พ่นสีรถยนต์ มีหลักเกณฑ์ดังนี้

  1. ต้องมีพื้นที่ส่วนที่ต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 70 ตรม. หากเป็นตึกแถวตั้งแต่ 2 ห้องขึ้นไป โดยไม่มีผนังกั้นแยก จะมีพื้นที่น้อยกว่านั้นก็ได้
  2. ห้องพ่นสีรถยนต์ ต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 20 ตารางเมตร
  3. อาคารต้องมั่นคงแข็งแรง และประกอบด้วยวัสดุ ทนไฟเป็นส่วนใหญ่
  4. หลังคามุงด้วยกระเบื้อง หรือ วัสดุทนไฟ (ตรงนี้มีผล เพราะไปเกี่ยวเนื่องกับการขออนุญาต กับทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม)
  5. เสา ทำด้วยโลหะหรือคอนกรีต
  6. ฝาผนังต้องทึบ ทำด้วยวัสดุทนไฟ สูงไม่น้อยกว่า 2 เมตร
  7. พื้นอาคารทำด้วยคอนกรีต หรือวัสดุอื่นใดซึ่งถาวร ทนไฟ เรียบ ทำความสะอาดง่าย
สถานที่พ่นสีรถยนต์ ต้องใจัดให้มีการสุขาภิบาลดังนี้
  1. มีช่องระบายอากาศไม่น้อยกว่า 20% ของพื้นที่อาคาร
  2. มีแสงสว่างภายในอาคารไม่น้อยกว่า 300 lux ในกรณีที่มีการเชื่อม ให้กระทำนอกห้องพ่นสีรถยนต์ และถ้ามีแสงจ้า เกิดจากการเชื่อม ต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันแสงสำหรับคนงาน
  3. มีรางหรือท่อระบายน้ำ บ่อพักที่มีขนาดพอเพียงก่อน ที่จะระบายลงสู่ท่อ ระบายน้ำ สาธารณะ ในกรณีที่มีการพ่นสารกันสนิม ต้องจัดทำบ่อดักไขมัน ที่มีขนาดพอเพียง
  4. มีถังขยะที่ถูกสุขลักษณะ
  5. มีห้องน้ำ ห้องส้วม ที่ปัสสาวะชาย อ่างล้างมือในอัตราส่วน 1 ที่ต่อจำนวนคนงาน 10 คน กรณีที่ใช้ตึกแถว เป็นสถานที่พ่นสีรถยนต์ ต้องมีห้องน้ำ 1 ห้อง ห้องส้วม 1 ห้อง และอ่างล้างมือ 1 ที่เป็นอย่างน้อย
  6. ห้ามทำการพ่นสีนอกห้องพ่นสีรถยนต์
  7. ห้ามทำการพ่นสี ในสถานีบริการจำหน่ายน้ำมัน หรือ ก๊าซ เว้นแต่การพ่นสารกันสนิม
  8. ห้ามมิให้่กระทำการอันใด อันอาจก่อให้เกิดเหตุรำคาญ แก่ผู้อยู่อาศัยข้างเคียง หรือ เป็นการเกะกะกีดขวาง ทางจราจร ในที่สาธารณะ ถนน หรือทางเท้า
นี่เป็นหลักเกณฑ์ ที่สำคัญๆเบื้องต้น สำหรับที่เกี่ยวกับ กรุงเทพมหานคร ที่บรรดาอู่เคาะพ่นสีรถยนต์ จะต้องดำเนินการให้ถูกต้อง ดีกว่าจะต้องไปเจอกับพวก เทศกิจเป็นรายเดือน

กรณีขออนุญาตรายใหม่หลักฐานที่ต้องใช้
1. บัตรประจำตัว และสำเนาทะเบียนบ้านผู้ขอใบอนุญาต
2. บัตรประจำตัวและสำเนาทะเบียนบ้านผู้จัดการหาก ไม่ใช่บุคคลเดียวกับผู้ถือใบอนุญาต
3. สำเนาทะเบียนบ้าน ของบ้านที่ใช้เป็นที่ตั้งสถานประกอบ
4. สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล พร้อมแสดงบัตรประจำตัว
ของผู้แทนนิติหากผู้ขอเป็นนิติบุคคล
5. หลักฐานที่ใช้แสดงว่าอาคารที่ใช้เป็นสถานประกอบการ สามารถใช้ ประกอบการนั้น
ได้โดยถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
กรณีขอต่ออายุใบอนุญาต
หลักฐานที่ต้องใช้
1. เหมือนกับการขออนุญาตรายใหม่ในข้อ (1.1) ยกเว้นหลักฐานการใช้ อาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
2. ใบอนุญาต หรือใบอนุญาตการเปลี่ยนแปลงตามแบบ อภ.5 (ถ้ามี)
กรณีขออนุญาตเปลี่ยนแปลงขยายลดการประกอบกิจการสถานที่หรือเครื่องจักร
หลักฐานที่ต้องใช้
1. เหมือนกับการขออนุญาตรายใหม่ในข้อ (1.1)
2. ใบอนุญาตเดิม
กรณีแจ้งเลิกกิจการ
หลักฐานที่ต้องใช้
1. ใบอนุญาต
2. ใบแทนใบอนุญาตและใบอนุญาตการเปลี่ยนแปลงฯ (ถ้ามี)
3. บัตรประจำตัวและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับใบอนุญาต

ThaiBlog.info